วิลเฟรด โอเวน
วิลเฟรด โอเวน

วิลเฟรด โอเวน

วิลเฟรด เอ็ดเวิร์ด ซอลเตอร์ โอเวน (อังกฤษ: Wilfred Edward Salter Owen, 18 มีนาคม ค.ศ. 1893 – 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918) เป็นกวีและทหารชาวอังกฤษ เป็นหนึ่งในกวีที่มีชื่อเสียงช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บทกวีของเขามักสะท้อนภาพความน่ากลัวในสนามเพลาะและความโหดร้ายของสงคราม ตรงข้ามกับบทกวีในยุคนั้นที่มักปลุกใจและเชิดชูการทำสงคราม ผลงานเด่นของเขาที่ตีพิมพ์หลังเสียชีวิต ได้แก่ "Dulce et Decorum est" "Insensibility" และ "Anthem for Doomed Youth"วิลเฟรด โอเวนเกิดในปี ค.ศ. 1893 ที่เมืองออสเวสตรี มณฑลชร็อปเชอร์ เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมด 4 คนของทอมัสกับซูซาน โอเวน (นามสกุลเดิม ชอว์) ต่อมาโอเวนย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่เมืองเบอร์เคนเฮดและชรูว์สบรี[1] และเรียนที่โรงเรียนในเมืองนั้น โอเวนเริ่มสนใจการเขียนกลอนราวปี ค.ศ. 1904 หลังพักผ่อนในวันหยุดที่เชชเชอร์[2] ช่วงแรกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากคัมภีร์ไบเบิล จอห์น คีตส์ และเพอร์ซี บีช เชลลีย์[3] หลังจากนั้นเขาทำงานเป็นผู้ช่วยมุขนายกแห่งดันส์เดน ใกล้เมืองเรดิง[4] ในปี ค.ศ. 1913 โอเวนเรียนที่มหาวิทยาลัยเรดิง ก่อนจะทำงานเป็นครูกวดวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่เมืองบอร์โดในปี ค.ศ. 1915 หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติ โอเวนถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารในกำลังสำรองของกองทัพบกสหราชอาณาจักร ปีต่อมาเขาได้รับยศร้อยตรีประจำกรมทหารแมนเชสเตอร์[5] ระหว่างสงคราม โอเวนประสบความบาดเจ็บทางจิตใจที่เรียกว่า shell shock จนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงครามเคร็กล็อกฮาร์ต และพบกับกวี ซีกฟรีด แซสซูน ผู้ส่งผลต่องานของโอเวนในเวลาต่อมา[6] ในปี ค.ศ. 1918 โอเวนกลับเข้ารับราชการทหารที่ฝรั่งเศส และได้รับกางเขน Military Cross หลังนำหมู่ทหารบุกโจมตีที่มั่นศัตรูในหมู่บ้านฌงกูร์ (Joncourt) วันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 โอเวนเสียชีวิตขณะนำทหารข้ามคลองซ็องบร์–อวซ ทางเหนือของฝรั่งเศส ข่าวการเสียชีวิตของเขาไปถึงครอบครัวในวันสงบศึก (11 พฤศจิกายน)[7] ในปี ค.ศ. 1985 โอเวนเป็นหนึ่งในกวีสงคราม 16 คนที่ได้รับการรำลึกที่มุมกวีในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์[8]

วิลเฟรด โอเวน

เว็บไซต์ wilfredowen.org.uk
อาชีพ กวี
เกิด วิลเฟรด เอ็ดเวิร์ด ซอลเตอร์ โอเวน
18 มีนาคม ค.ศ. 1893(1893-03-18)
ออสเวสตรี มณฑลชร็อปเชอร์ อังกฤษ
สาเหตุเสียชีวิต เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่
เสียชีวิต 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 (25 ปี)
คลองซ็องบร์–อวซ ฝรั่งเศส
สัญชาติ บริติช